338 จำนวนผู้เข้าชม |
และเป็นวัดที่ พระสมเด็จพุฒาจารย์โต ได้สร้างพระเครื่องสมเด็จ อันเรืองชื่อ และโด่งดังในอดีจจนถึงปัจจุบันอย่างมิเสื่อมคลาย ทำให้วัดระฆังแห่งนี่เป็นที่นับถือของคนไทยทั่วราชอนาจักรไทยเลยก็ว่าได้ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีบุญวาสนาได้ครอบครองพระสมเด็จวัดระฆัง นักท่องเที่ยวต่างก็มาสักการะและมากราบไหว้เป็นจำนวนมากอย่างไม่ขาดสาย
ประวัติโดยย่อ
วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร
วัดระฆังโฆสิตาราม เดิมเรียกว่า วัดบางหว้าใหญ่ เป็นวัดโบราณครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี คู่กับวัดบางหว้าน้อย คือ วัดอมรินทราราม ปีพุทธศักราช ๒๓๑๐ กรุงศรีอยุธยาเสียกรุงแก่พม่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ทรงกู้อิสรภาพของไทยกลับคืนมาได้ และเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ พร้อมกับตั้งพระนครหลวงขึ้นใหม่เรียกว่า กรุงธนบุรี เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๓๑๑
พุทธศักราช ๒๓๑๒ หลังจากที่ทรงขึ้นครองราชย์แล้วก็ทรงใฝ่พระทัยเป็นธุระในพระพุทธศาสนา พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ยกวัดบางหว้าใหญ่ซึ่งเดิมเป็นวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวง และทรงมีพระราชปรารภว่า พระไตรปิฎกคงกระจัดกระจายเสียหายเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่า เพราะพม่าได้เผาบ้านเมืองและวัดวาอารามพินาศลง จึงมีพระราชประสงค์จะรวบรวมชำระสอบทานพระไตรปิฎกนั้นให้ถูกต้องครบถ้วนตามเดิม และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปอัญเชิญพระไตรปิฎกจากเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งยังมีบริบูรณ์อยู่เพราะพม่ายังไปทำลายไม่ถึง ประจวบกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีต้องเสด็จพระราชดำเนินไปทำสงครามที่เมืองนครศรีธรรมราช เมื่อเสร็จราชการสงครามแล้วได้ทรงพบพระอาจารย์รูปหนึ่งมีชื่อว่า พระอาจารย์สี แต่เดิมพระอาจารย์สีรูปนี้อยู่ประจำที่วัดพนัญเชิง แขวงเมืองกรุงเก่า เป็นผู้มีความสามารถแตกฉานในพระไตรปิฎก ทั้งเป็นผู้ทรงคุณทางวิปัสสนาธุระ ซึ่งพระองค์ทรงรู้จักดี เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าแล้ว ท่านได้หลีกไปอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงให้รวบรวมพระไตรปิฎกจากนครศรีธรรมราชได้แล้ว เสด็จกลับกรุงธนบุรีพร้อมกันนั้นก็ได้อาราธนาพระอาจารย์สีร่วมมาในขบวนนั้นด้วยและโปรดเกล้าฯ ให้ครองวัดบางหว้าใหญ่ พร้อมทั้งทรงตั้งให้เป็นสมเด็จพระสังฆราชด้วย
พระประธานยิ้มรับฟ้า เป็นพระพุทธรูปเนื้อทองสำริด ปางสมาธิ หน้าตักกว้างประมาณ ๔ ศอกเศษ เบื้องพระพักตร์มีรูปพระสาวก ๓ องค์ นั่งประนมมือดุจรับพระพุทธโอวาท พระประธานองค์นี้ได้รับการยกย่องว่างดงามมาก
จนปรากฎว่าครั้งหนึ่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดระฆังโฆสิตาราม ได้ทรงมีพระราชดำรัสแก่ผู้เข้าเฝ้าฯ ใกล้ชิดว่า ไปวัดไหนไม่เหมือนมาวัดระฆังพอเข้าประตูโบสถ์พระประธานยิ้มรับฟ้าทุกที ด้วยเหตุนี้จึงทรงถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตนราชวราภรณ์ และมหาปรมาภรณ์ช้างเผือกแด่พระประธานองค์นี้เป็นพิเศษ และพระประธานองค์นี้ก็ได้นามว่า พระประธานยิ้มรับฟ้า ตั้งแต่นั้นมา
พระปรางค์องค์ใหญ่ รัชกาลที่ ๑ ทรงมีพระราชศรัทธาสร้างพระปรางค์ พระราชทานร่วมกุศลกับสมเด็จพระพี่นางพระองค์ใหญ่ (สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง กรมพระยาเทพสุดาวดี พระนามเดิม สา) ตั้งอยู่หน้าพระวิหาร ได้รับการยกย่องจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ว่า เป็นพระปรางค์ที่ทำถูกแบบที่สุดในประเทศไทย พระปรางค์องค์นี้จัดเป็นพระปรางค์แบบ สถาปัตยกรรมรัตนโกสินทร์ยุคต้น ที่มีทรวดทรงงดงามมาก จนยึดถือเป็นแบบฉบับของพระปรางค์ที่สร้างในยุคต่อมา
พระเจดีย์ ๓ องค์ สร้างโดยเจ้านายวังหลัง ๓ องค์ คือ กรมหมื่นนราเทเวศร์ (พระองค์เจ้าชายปาล ต้นสกุล ปาลกะวงศ์) กรมหมื่นนเรศร์โยธี (พระองค์เจ้าชายบัว) และกรมหมื่นเสนีย์บริรักษ์ (พระองค์เจ้าชายแดง ต้นสกุล เสนีวงศ์) สร้างโดยเสด็จพระราชกุศลในรัชกาลที่ ๓ เมื่อคราวสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ เป็นเจดีย์ย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบ ทรงจอมแห ทรวดทรงงดงามมาก แต่เป็นเจดีย์ขนาดย่อม ตั้งอยู่ด้านทิศเหนือของพระอุโบสถหลังปัจจุบัน
พระอุโบสถ เป็นทรงแบบรัชกาลที่ ๑ หลังคาลด ๓ ชั้น มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และคันทวยสลักเสลาอย่างสวยงาม บริเวณมุขด้านหน้าและหลังทำปีกนกคลุมมุขอยู่ในระยะไขราหน้าจั่ว ตอนใต้จั่วหรือหน้าบัน ที่จำหลักลายพระนารายณ์ทรงครุฑ ประดับลายกนกปิดทองอย่างประณีต เจาะเป็นช่องหน้าต่าง ๒ ช่อง แทนแผงแรคอสองเหนือประตูหน้าต่างรอบพระอุโบสถติดกระจังปูนปั้นปิดทองทำเป็นรูปซุ้มบนบานประตูหน้าต่างด้านนอกเขียนลายรดน้ำปิดทองมีรูประฆังเป็นเครื่องหมาย ด้านในเขียนภาพทวารบาลยืนแท่นระบายสีงดงาม บริเวณฝาผนังภายในพระอุโบสถโดยรอบเขียนภาพจิตรกรรมที่ได้รับการยกย่องว่าฝีมืองดงามมาก โดยผนังด้านหน้าพระประธานเขียนเป็นภาพพระพุทธเจ้าแสดงยมกปาฏิหาริย์ก่อนเสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ด้านหลังพระประธานเขียนภาพพระมาลัยขณะขึ้นไปนมัสการพระมหาจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เบื้องล่างเขียนภาพสัตว์นรกในอาการต่างๆ ภาพฝาผนังส่วนที่เหลือ เบื้องบนเขียนเป็นเทพชุมนุม ตอนล่างเขียนภาพทศชาติ ซึ่งเขียนได้อย่างมีชีวิตชีวาอ่อนช้อยและแสงสีเหมาะสมกับเรื่องราว ภาพเหล่านี้เขียนโดย พระวรรณวาดวิจิตร (ทอง จารุวิจิตร) จิตรกรเอกในสมัยรัชกาลที่ ๖ เมื่อราว พ.ศ. ๒๔๖๕ ครั้งมีการบูรณะซ่อมแซมพระอุโบสถในรัชกาลนั้น
ต้นโพธิ์ลังกา เป็นต้นโพธิ์พันธุ์ลังกา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับมาในรัชสมัยของพระองค์ และโปรดเกล้าฯ ให้นำไปปลูกตามพระอารามหลวงต่างๆ ตามประวัติกล่าวว่า ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงปลูกต้นโพธิ์ที่วัดระฆังโฆสิตารามนี้ด้วยพระองค์เอง
ตำหนักแดง เป็นเรือนไม้สักฝาปะกนกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขทรงยกถวายวัดระฆังโฆสิตารามเพื่อปลูกเป็นกุฏิสงฆ์ ปัจจุบันอยู่ภายในบริเวณคณะ ๒ เชื่อกันว่าเป็นตำหนักสำหรับทรงกรรมฐานของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (พระเจ้าตากสิน) สันนิษฐานจากพระดำรัสของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งได้ตรัสกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ เมื่อเสด็จมาทอดพระเนตรกุฏินี้ว่า นี้เป็นตำหนักปรกของพระเจ้ากรุงธนบุรี หลักฐานที่นำมาอ้างอิงคือฝาประจันที่ใช้กั้นห้องภายในตำหนักเดิม เขียนรูปอสุภต่างๆ ชนิด และมีภาพพระภิกษุเจริญกรรมฐาน ซึ่งสอดคล้องกับพระอุปนิสัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แต่ปัจจุบันภาพเหล่านี้ลบเลือนหายไปหมดสิ้นแล้ว
หอพระไตรปิฎก เป็นรูปเรือน ๓ หลังแฝด หอด้านใต้ลักษณะเป็นหอนอน หอ กลางเป็นห้องโถง หอด้านเหนือเข้าใจว่าเป็นห้องรับแขก ของเดิมเป็นหลังคามุงจาก ได้เปลี่ยนเป็นมุงกระเบื้อง ชายคาเป็นรูปเทพพนมเรียงรายเป็นระยะๆ เปลี่ยนฝาสำหรวดไม้ขัดแตะเสียบกระแชงเป็นขัดด้วยหน้ากระดานไม้สักระหว่างลูกสกล ใช้แผ่นกระดานไม้สักเลียบฝาภายในแล้วเขียนรูปภาพต่างๆ บานประตูด้านใต้เขียนลายรดน้ำ บานประตูหอกลางด้านตะวันออกแกะเป็นลายกนกวายุภักษ์ ประกอบด้วยกนกเครือเถา บานซุ้มประตูนอกชานแกะเป็นมังกรลายกนกดอกไม้ภายนอกติดคันทวยสวยงาม ภายในมีตู้พระไตรปิฎกขนาดใหญ่เขียนลายรดน้ำ ๒ ตู้ ประดิษฐานไว้ในหอด้านเหนือ ๑ ตู้ หอด้านใต้ ๑ ตู้ หอพระไตรปิฎกนี้ตั้งอยู่ภายในเขตพุทธาวาส ทิศใต้ของพระอุโบสถ
หอพระไตรปิฎกหลังเล็ก อยู่หน้าตำหนักแดง ในคณะ ๒ เป็นเรือนไม้ฝาปะกน ปิดทอง ทาสีเขียวสด ประตูหน้าต่างเขียนลายรดน้ำสวยงามมาก
พระวิหารสมเด็จพระสังฆราช (สี) ตั้งอยู่ด้านหน้าพระอุโบสถ หลังคามุงกระเบื้องเคลือบติดคันทวยตามเสาอย่างสวยงาม หน้าบันทั้งสองด้านจำหลักรูปฉัตร ๓ ชั้น อันเป็นเครื่องหมายพระยศสมเด็จพระสังฆราช วิหารหลังนี้เดิมหลังคาเป็นทรงปั้นหยา เรียกว่า ศาลาเปลื้องเครื่อง ต่อมา พระราชธรรมภาณี (ละมูล) อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ ๑๐ ได้เปลี่ยนเป็นหลังคาทรงไทย มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ เพื่อประดิษฐานพระอัฐิสมเด็จพระสังฆราช (สี) ซึ่งเดิมบรรจุอยู่ในรูปพระศรีอาริยเมตไตรย ประดิษฐานในซุ้มพระปรางค์ของวัดระฆังโฆสิตาราม ต่อมาได้ย้ายมาไว้ที่พระวิหารที่ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่เพื่อยกย่องพระเกียรติของพระองค์
ศาลาการเปรียญ กว้าง ๑๖.๖๐ เมตร ยาว ๔๐.๘๐ เมตร สร้าง ในสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นอาคาร คอนกรีตเสริมเหล็ก ทรงไทย