เสาหลักเมืองกรุงเทพมหานคร มี 2 เสา คู่กัน

คุณสมบัติสินค้า:

วัตถุมงคลพระหลักเมืองทองคำ พิธีบวงสรวงสังเวย และพิธีเทวาภิเษก ภายในศาลหลักเมือง

Share

เสาหลักเมืองกรุงเทพมหานคร มี 2 เสา คู่กัน

วัตถุมงคลพระหลักเมืองทองคำ พิธีบวงสรวงสังเวย และพิธีเทวาภิเษก ภายในศาลหลักเมือง บูชาไว้ที่บ้าน จะทำให้เกิดสิริมงคลแก่ตนเองและเคหสถาน มั่นคงทั้งการเงินและทรัพย์สิน คนในบ้านอยู่เย็นเป็นสุข

วันนี้ในอดีต 21 เมษายน พ.ศ.2325 ถือเป็นวันสำคัญยิ่งอีกวันหนึ่งของแผ่นดินรัตนโกสินทร์ เพราะเป็นวันสถาปนากรุงเทพมหานคร โดยหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ปราบดาภิเษกเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีแล้ว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองหลวงจากกรุงธนบุรีฝั่งตะวันตกมาฝั่งตะวันออก เพื่อสถาปนาเป็นเมืองหลวงใหม่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งตามประเพณีโบราณการสร้างเมืองสำคัญจำเป็นต้องมีการยกหลักเมืองขึ้นเป็นมิ่งเมือง ขวัญเมืองสืบไป

ดังนั้นในวันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน พ.ศ.2325 พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธียกเสาหลักเมืองขึ้น โดยใช้ไม้ชัยพฤกษ์ทำเป็นเสาหลักเมือง ประกอบด้านนอกด้วยไม้แก่นจันทน์ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 75 ซ.ม. สูง 27 ซ.ม. และกำหนดให้ความสูงของเสาหลักเมืองอยู่พ้นดิน 10 นิ้ว ฝังลงในดินลึก 79 นิ้ว มีเม็ดยอดรูปบัวตูมสวมลงบนเสาหลัก ลงรักปิดทอง ล้วงภายในไว้เป็นช่องสำหรับบรรจุดวงชะตาเมือง เรียกได้ว่าเสาหลักเมืองนี้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่ที่อยู่คู่กับพระนครมาแต่แรก

แต่ผู้ที่ได้มีโอกาสไปกราบสักการะศาลหลักเมืองมาแล้วคงจะเห็นว่า มีเสาหลักเมืองภายในศาลอยู่ 2 เสาด้วยกัน ซึ่งก็อาจทำให้เกิดคำถามขึ้นในใจว่า เหตุใดเสาหลักเมืองกรุงเทพฯ จึงมีถึง 2 เสาเช่นนี้?

ในหลวง ร.๙ เสด็จฯ ไปยังศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2525

สาเหตุที่เสาหลักเมืองกรุงเทพฯ มี 2 เสานั้นเกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ในปี พ.ศ. 2379 เมื่อพระองค์ทรงตรวจดวงพระชะตาของพระองค์เองพบว่าเป็นอริแก่ลัคนาดวงเมือง จึงโปรดเกล้าฯให้สร้างเสาหลักเมืองขึ้นใหม่อีก 1 ต้น เพื่อเป็นการแก้เคล็ด พร้อมบรรจุดวงชะตาเมืองขึ้นมาใหม่

ในครั้งนั้นได้มีการขุดเสาหลักเมืองเดิม และจัดสร้างเสาหลักเมืองขึ้นใหม่ทดแทนของเดิมที่ชำรุด เป็นแกนไม้สัก ประกอบด้านนอกด้วยไม้ชัยพฤกษ์ 6 แผ่น สูง 108 นิ้ว ฐานเป็นแท่นกว้าง 70 นิ้ว บรรจุดวงเมืองในยอดเม็ดทรงมัณฑ์ที่มีความสูงกว่า 5 เมตร พร้อมกับอัญเชิญหลักเมืองเดิม และหลักเมืองใหม่ ประดิษฐานอยู่ใกล้กันในอาคารศาลหลักเมืองที่มียอดปรางค์ ก่ออิฐฉาบปูนขาวที่ได้แบบอย่างจากศาลหลักเมืองอยุธยา

ต่อมาใน พ.ศ.2525 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนิน ณ ศาลหลักเมือง ในพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี เพื่อเป็นสิริมงคลแก่มหานครตามโบราณราชประเพณี และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการดำเนินการปรับปรุงศาลหลักเมืองให้มีความงดงามบริบูรณ์สมกับเป็นที่สถิตแห่งองค์พระหลักเมือง และให้เชิญเสาหลักเมืองต้นเดิมไปประดิษฐานไว้คู่กับเสาหลักเมืองต้นปัจจุบัน เมื่อบูรณปฏิสังขรณ์แล้วเสร็จสมบูรณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีสมโภชพระหลักเมือง ณ วันพฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม 2529

อาคารศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ

ในการนี้ คณะกรรมการดำเนินการปรับปรุงศาลหลักเมือง ได้กราบบังคมทูลเชิญ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์การดำเนินงานปรับปรุงศาลหลักเมือง

รวมทั้งได้สร้างศาลเทพารักษ์เพื่อเป็นที่สถิตแห่งเทพารักษ์ทั้ง 5 ได้แก่ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระกาฬไชยศรี เจ้าเจตคุปต์ และเจ้าหอกลอง และอาคารหอพระพุทธรูปขึ้นอีกด้วย

เรื่องเกี่ยวกับศาลหลักเมืองที่คนสนใจ นอกจากในเรื่องของความเชื่อของเกี่ยวกับดวงเมือง ชะตาราศี และความศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เล่าขานกันมาก็คือความเชื่อเกี่ยวกับไสยศาสตร์อาถรรพ์ลี้ลับ โดยเฉพาะเรื่องการนำคนเป็นๆ ฝังลงไปในหลุมหลักเมือง ดังที่เล่าขานกันว่ามีการฝังคนสี่หูสี่ตา (คนมีครรภ์) ลงไปในหลุมเสาเมือง หรือเรื่องที่ได้ยินกันแพร่หลายเกี่ยวกับการสร้างเมืองต้องฝังอาถรรพ์ 4 ประตูเมือง ด้วยการนำคนเป็นๆ ที่ชื่อว่า อิน จัน มั่น คง ฝังในหลุมเพื่อให้เป็นผู้ดูแลรักษาบ้านเมือง

กราบสักการะหลักเมืองเพื่อความเป็นสิริมงคล

อย่างไรก็ดี สำหรับเสาหลักเมืองกรุงเทพฯ นั้นแม้ไม่มีเรื่องเหล่านี้ แต่ก็เรื่องเล่าชวนพิศวงว่าตอนทำพิธีอัญเชิญเสาหลักเมืองลงหลุม ได้เกิดปรากฏการณ์อัศจรรย์ขึ้นเมื่อจู่ๆ ก็มีงูเล็ก 4 ตัวมาจากไหนไม่ทราบเลื้อยลงไปในหลุม แต่เมื่อดูในหลุมก็ไม่พบงูทั้งสี่ จึงต้องยกเสาลงหลุมและฝังกลบดินพร้อมงูสี่ตัวนั้น

ตามปกติแล้วในแต่ละวันจะมีผู้คนจากทั่วสารทิศเดินทางมากราบไหว้ขอพรพระหลักเมืองอยู่ไม่ได้ขาด เพื่อเป็นสิริมงคลและเป็นหลักชัยในการดำรงชีวิต โดยทางศาลได้จัดพื้นที่ด้านนอกวิหารไว้ให้ประชาชนได้จุดธูปไหว้ และมีเสาหลักเมืองจำลองให้ประชาชนได้มาสรงน้ำ ปิดทอง และผูกผ้าแพรที่เสา ก่อนที่จะเข้าไปสักการะองค์หลักเมืองของจริงที่อยู่ด้านใน

แต่ปัจจุบันนี้ที่โรคโควิด-19 กำลังระบาด ศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ จึงประกาศปิดชั่วคราวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งเมื่อหากสถานการณ์ของโรคคลี่คลาย เราคงได้มีโอกาสไปกราบศาลหลักเมืองกันอีกครั้งหนึ่งเร็วๆ นี้



ศาลเทพารักษ์ ที่สถิตย์ของพระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระกาฬไชยศรี เจ้าเจตคุปต์ เจ้าหอกลอง เสาหลักเมืองกรุงเทพ

ปัจจุบันบริเวณที่ตั้งศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร คือบริเวณใกล้พระบรมมหาราชวัง ถนนหลักเมือง แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร สถิตสถาพรเป็นศูนย์รวมความศรัทธา เป็นที่สักการบูชาของปวงชนทุกหมู่เหล่ามาจนชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา ในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯให้สถาปนาเสาหลักเมืองต้นใหม่โดยใช้แก่นไม้สักประกบนอกด้วยไม้ชัยพฤกษ์ ๖ แผ่น ตั้งอยู่บนฐานเป็นแท่นกว้าง ๗๐ นิ้ว มียอดเสาทรงมัณฑ์บรรจุดวงชะตาเมือง มีการสร้างศาลหลักเมืองใหม่ตามแบบอย่างศาลหลักเมืองกรุงศรีอยุธยา

 

(ภาพ : bangkokcitypillarshrine.com/)

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้